TH | EN


วันที่เพิ่มข้อมูล : 16 june 2559
มีผู้เข้าชมทั้งหมด : 4005 ครั้ง

การรอลงอาญา : รอแล้วรออีกได้หรือไม่

การรอลงอาญา : รอแล้วรออีกได้หรือไม่

     ทุก ๆ คนล้วนแล้วแต่เคยทำผิดพลาดมาแล้วด้วยกันทั้งสิ้น เพราะคนที่ไม่เคยทำผิดพลาดอะไร ก็คงจะมีแต่คนที่ไม่เคยทำอะไรเลยทั้งนั้น และด้วยแนวความคิดเช่นนี้ ได้กลายมาเป็นบทบัญญัติที่สำคัญเรื่องหนึ่งในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ว่าด้วยเรื่อง “การรอลงอาญา” หรือที่ภาษากฎหมายเรียกว่า “การรอการลงโทษ” จากข่าวที่กำลังกลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องของดารานายแบบวัยรุ่นคนหนึ่ง ซึ่งถูกแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภรรยาตน โดยตำรวจได้ตรวจสอบประวัติแล้วพบว่า ผู้ต้องหารายนี้เคยกระทำความผิดทางอาญามาแล้วหลายคดี โดยที่แต่ละคดีนั้น ถ้าไม่ได้มีการยอมความกัน ก็ปรากฏว่าศาลได้สั่งรอลงอาญาไว้แล้วหลายคดี ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์ วิจารณ์กันในวงกว้างว่า การรอลงอาญาตามกฎหมายนั้น ถ้าผู้กระทำความผิดคนเดิมกระทำความผิดทางอาญาอีก ศาลจะมีคำสั่งให้รอลงอาญาผู้นั้นได้อีกหรือไม่ ? ถ้าพูดกันตามภาษาชาวบ้าน ก็คือ “รอแล้ว รออีกได้หรือไม่ ?” สำหรับข้อเท็จจริงว่าดารานายแบบวัยรุ่นคนนี้ จะเป็นคนเลวแค่ไหน อย่างไร ก็คงแล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละคน ผมคงไม่ออกความเห็นอะไร เพราะประเด็นที่น่าสนใจที่สุดอยู่ที่เรื่องการรอลงอาญา ดังที่มีข้อสงสัยว่า การรอลงอาญานั้น ถ้าผู้ที่อยู่ในระหว่างการรอลงอาญาได้กระทำความผิดอีก ศาลจะสั่งรอลงอาญาได้อีกหรือไม่ สิ่งที่จะตอบข้อสงสัยได้ดีที่สุด คือ หลักกฎหมาย ซึ่งหลักกฎหมายเกี่ยวกับเรื่อง “การรอการลงโทษ” หรือ “การรอลงอาญา” ตามประมวลกฎหมายอาญา มีหลักดังนี้ คือ ผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้น ศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ (คือความผิดที่มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน) ศาลจะวินิจฉัยโดยคำนึงถึง อายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือเหตุอื่นอันควรปรานี เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาว่า ผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ก็ได้ ผมอยากให้สังเกตในข้อ 2. ให้ดีแล้วจะพบว่า การรอการลงอาญานั้น ผู้กระทำความผิดต้องไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน คำว่า “โทษจำคุก” ใน ที่นี้ หมายถึง การถูกจำคุกจริง ๆ ถูกคุมขังในเรือนจำจริง ๆ ฉะนั้นคำว่าได้รับโทษจำคุกในที่นี้ จึงไม่รวมถึงการรอลงอาญา แม้จะเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกก็ตาม ทั้งนี้ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วว่า การรอลงอาญาไม่ถือว่าเป็นการได้รับโทษจำคุกมาก่อน ศาลจึงมีคำสั่งให้รอการลงโทษไว้อีกได้ (ฎ.1983/2497)

     ดังนั้น ผู้กระทำความผิดอาญาที่ถูกตัดสินให้จำคุกแต่ศาลสั่งรอลงอาญาไว้ เมื่อกระทำความผิดอีก ศาลอาจจะสั่งให้รอลงอาญาเอาไว้อีกก็ได้ อย่างไร ก็ตาม ศาลจะพิจารณาโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม และลักษณะของบุคคลนั้น ๆ ว่าสมควรจะรอการลงโทษไว้หรือไม่ เพราะลักษณะนิสัยของบางคนชอบกระทำความผิดอยู่เป็นประจำ หรือที่เรียกกันตามภาษากฎหมายว่า “มีเถียรจิตเป็นโจร” อย่างนี้ศาลอาจจะไม่สั่งให้รอลงอาญาในคดีใหม่ และอาจจะยกเลิกการรอลงอาญาในคดีเก่า แล้วนำโทษในคดีเก่ามารวมกับโทษในคดีใหม่ก็ได้ ท้ายสุดนี้ ผมข้อฝากแง่คิดเอาไว้ว่า คนเราเมื่อทำผิดแล้วก็ควรที่จะปรับปรุงตัว โดยนำความผิดพลาดในอดีตมาเป็นบทเรียน เรียกว่า “ผิดเป็นครู” แต่ ถ้าทำผิดแล้วยังไม่สำนึก และยังคงทำผิดอีกหลายครั้ง ก็เป็นการสมควรแล้วที่จะถูกลงโทษให้เข็ดหลาบ เพื่อจะได้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้ที่คิดจะกระทำผิดต่อไปภายภาคหน้า