TH | EN


วันที่เพิ่มข้อมูล : 24 may 2559
มีผู้เข้าชมทั้งหมด : 4785 ครั้ง

เหตุการณ์กระทำผิด และการลงโทษตามกฎหมายอาญา (กรณีศึกษา)

กรณีศึกษา

 

ตัวอย่างเหตุการณ์กระทำผิด และการลงโทษตามกฎหมายอาญา 

1. นายชมต้องการฆ่านายชัย จึงส่งจดหมายไปถึงนายชิตมือปืนรับจ้างให้ฆ่านายชัย ต่อมานายชมเปลี่ยนใจไม่ต้องการฆ่านายชัยโดยเพียงต้องการทำร้ายเท่านั้น จึงส่งจดหมายอีกฉบับหนึ่งถึงนายชิตมีใจความว่า ขอยกเลิกข้อความในจดหมายฉบับแรกทั้งหมดและให้นายชิตไปคอยดักทำร้ายนายชัย ปรากฏว่าจดหมายฉบับแรกหายกลางทางไปไม่ถึงมือนายชิต แต่นายชิตได้รับจดหมายฉบับที่สอง โดยไม่รู้เรื่องในจดหมายฉบับแรกเลย และได้ไปคอยดักทำร้ายนายชัยตามที่นายชมว่าจ้าง เมื่อนายชัยเดินทางมาถึง นายชิตซึ่งแอบอยู่ก็ตรงเข้าใช้ไม้ตีทำร้ายนายชัย เป็นเหตุให้นายชัยล้มลงศีรษะฟาดพื้นถึงแก่ความตาย

การลงโทษตามกฎหมายอาญา         

นายชมไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 ในความผิดฐานฆ่านายชัยเพราะเมื่อจดหมายฉบับแรกหายกลางทางและนายชิตไม่รู้ข้อความใด ๆ ในจดหมายฉบับแรกเลย จึงยังไม่มีการใช้ให้ไปฆ่า นายชมจึงไม่ต้องรับโทษหนึ่งในสามของโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) แต่อย่างใดนายชิตไปดักทำร้ายนายชัยตามที่รับจ้างมา เป็นการทำร้ายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เมื่อนายชัยถึงแก่ความตายอันเป็นผลโดยตรงจากการทำร้าย นายชิตจึงมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคสองนายชมมีความผิดเช่นเดียวกับนายชิตโดยเป็นผู้ใช้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 แม้นายชัยจะถึงแก่ความตายแต่ก็เป็นการกระทำภายในขอบเขตของการใช้ ซึ่งผู้ใช้ต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นนั้นด้วยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 87

 

2. นายอ้วนกับนายผอมเคยมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันมาก่อน วันเกิดเหตุนายอ้วนไปท้าทายนายผอมโดยพูดว่า "มึงออกมาต่อยกับกูตัวต่อตัว ถ้าแน่จริง" นายผอมเดินออกจากบ้านไปพบนายอ้วนโดยพกอาวุธปืนสั้นไปด้วย นายอ้วนชักมีดออกมาเพื่อจ้วงแทงนายผอม จึงถูกนายผอมใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงในระยะ 2 เมตร ถูกนายอ้วนที่หน้าอกจำนวน3 นัด นายอ้วนได้รับอันตรายสาหัส และนายผอมอ้างเหตุว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือกระทำโดยบันดาลโทสะ

การลงโทษตามกฎหมายอาญา         

นายผอมใช้อาวุธปืนยิงในระยะ 2 เมตร ถูกนายอ้วนที่หน้าอก 3 นัด ถือว่ามีเจตนาฆ่านายอ้วน แต่นายอ้วนไม่ถึงแก่ความตาย นายผอมจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80การที่นายอ้วนไปพูดท้าทายและนายผอมออกไปพบนายอ้วนโดยพกอาวุธปืนสั้นไปด้วย แสดงว่านายผอมสมัครใจเข้าวิวาทและต่อสู้กับนายอ้วน เป็นการเข้าสู่ภัยโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ แม้นายอ้วนชักมีดเพื่อจ้วงแทงก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการทะเลาะวิวาทกัน นายผอมไม่มีสิทธิใช้อาวุธปืนยิงนายอ้วน โดยอ้างเหตุว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 การที่นายอ้วนพูดท้าทายให้นายผอมออกไปชกต่อยกันตัวต่อตัว ยังมิใช่เป็นการข่มเหงนายผอมอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมต่อนายผอม และแม้นายอ้วนชักมีดเพื่อจ้วงแทงก็เนื่องมาจากการที่นายผอมสมัครใจเข้าวิวาทต่อสู้กับนายอ้วน จึงไม่อาจอ้างว่าเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3089/2541 และ 4686/2545)

 

 

3. นายต้นถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญา นายต้นกลัวว่า ศาลจะพิพากษาลงโทษจำคุก จึงไปปรึกษานายส่งซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราว ทำหน้าที่เก็บสำนวนคดีอยู่ที่ศาลนั้นซึ่งรู้จักกันมาก่อน นายส่งได้พูดว่ารู้จักผู้พิพากษาในคดีที่นายต้นถูกฟ้อง เคยเสนอสำนวนให้ท่านพิจารณา หากนายต้นให้เงินตน 100,000 บาท ก็จะขอให้ศาลพิพากษารอการลงโทษแก่นายต้น แต่นายส่งมิได้ระบุชื่อผู้พิพากษา นายต้นจึงมอบเงินจำนวน 100,000 บาท แก่นายส่ง ต่อมาศาลพิพากษาลงโทษจำคุกนายต้น นายต้นจึงทราบว่านายส่งมิได้วิ่งเต้นให้ตนเลย เพราะนายส่งไม่เคยรู้จักผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน เหตุที่นายส่งแอบอ้างเพราะเข้าใจว่าคดีประเภทนี้ศาลมักจะรอการลงโทษอยู่แล้ว นายต้นจึงไปต่อว่านายส่งว่าทำให้ตนเสียหายต้องโทษจำคุกและขอเงินคืน นายส่งอ้างว่ามิได้กระทำความผิดแต่อย่างใดและไม่ยอมคืนเงิน 100,000 บาท

การลงโทษตามกฎหมายอาญา         

การที่นายส่งเรียกและรับเงินไปจากนายต้นเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท เพื่อเป็นการตอบแทนโดยอ้างว่าจะนำไปใช้จูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งผู้พิพากษาโดยวิธีการอันทุจริตให้กระทำการในหน้าที่พิพากษาคดีโดยรอการลงโทษแก่นายต้น ในคดีอาญาที่นายต้นถูกฟ้อง แม้จะมิได้ระบุชื่อผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาพิพากษาคดีของนายต้นและไม่ได้ไปจูงใจผู้พิพากษาในการกระทำการในหน้าที่ให้เป็นคุณแก่นายต้นก็ตาม การกระทำของนายส่งก็ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7695/2543)  ส่วนเงินจำนวน 100,000 บาท
เป็นทรัพย์ที่ได้ให้ตามความในมาตรา 143 จึงต้องริบเสียทั้งสิ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 34 (1)