TH | EN


วันที่เพิ่มข้อมูล : 23 may 2559
มีผู้เข้าชมทั้งหมด : 785 ครั้ง

กฎหมายที่เกี่ยวกับการกระทำผิดทางเพศ

กฎหมายที่เกี่ยวกับการกระทำผิดทางเพศ 2558

 

พระ ราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 22 และ 23 ที่เพิ่งบังคับใช้ไปเมื่อวันแห่งความรัก 14 ก.พ.2558 ที่ผ่านมา มีเนื้อหาสาระน่าสนใจหลายประเด็นที่ควรทราบ

อาทิ ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่มีการเอาผิดกับผู้ทำร้ายศพ กระทำชำเราศพ ทำอนาจารศพ หรือดูหมิ่นเหยียดหยามศพ

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มโทษแก่ผู้กระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกิน 13 และ 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน ไม่ว่าเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ ต้องได้รับโทษทัณฑ์ที่หนักขึ้นกว่าเดิม มีการนำหลักกฎหมายปิดปากมาใช้กับบางกรณี โดยห้ามมิให้จำเลยยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาล รวมทั้งนิยามความหมายของคำว่า “เจ้าพนักงาน” ลงไปในกฎหมายให้ชัดเจนเป็นครั้งแรก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาวตรี สุขศรี อาจารย์ภาควิชากฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สอนวิชากฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา ไล่เรียงอธิบาย

เดิมคำว่า “เจ้าพนักงาน” ไม่มีบทนิยามไว้เฉพาะ เพราะกฎหมายจะไปเขียนรายละเอียดลงลึกหมดทุกเรื่องไม่ได้ บางเรื่องจึงต้องอาศัยให้ศาลตีความเอา

กรณีคำว่า “เจ้าพนักงาน” นั้น ศาลฎีกาเคยตีความวางหลักไว้ว่า หมายถึง ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้ง และมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และ ต้องได้รับเงินเดือนจากหมวดงบประมาณเงินเดือนของแผ่นดิน

แต่ตามกฎหมายอาญาที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ และมีผลบังคับใช้แล้วขณะนี้ กำหนดว่า บุคคลใดก็ตามหากได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนจากงบประมาณแผ่นดินหรือไม่ ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานทั้งสิ้น

ถัดมา มีการเพิ่มอัตราโทษปรับของ ความผิดลหุโทษ ซึ่งเดิมลหุโทษ หมายถึง ความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ปัจจุบัน คำว่า “ความผิดลหุโทษ” เปลี่ยนใหม่เป็น ความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เห็นได้ว่า มีการเพิ่มอัตราโทษปรับขึ้นมาประมาณ 10 เท่า จากของเดิม

อาจารย์สาวตรี บอกว่า อีกกรณีที่ถือว่าน่าสนใจอย่างมาก ก็คือ ได้มีการ เพิ่มหมวดความผิดเกี่ยวกับศพ ขึ้นเป็นครั้งแรก
กล่าวคือ เดิมกฎหมายอาญามีเพียง 12 ลักษณะความผิด แต่ปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นเป็น 13 ลักษณะ ความผิด คือ ความผิดเกี่ยวกับศพ

เธอยกตัวอย่าง มาตรา 366/1 ว่าด้วย ความผิดฐานกระทำชำเราศพ กรณีนี้ไม่เรียกว่าเป็นการข่มขืนศพ เพราะศพไม่อยู่ในสภาพที่จะขัดขืนผู้ใดได้

การที่ถือว่า “ศพ” ไม่มีสภาพเป็นบุคคล จึงไม่ถือว่าเป็น “ผู้อื่น” ตาม ป.อ.มาตรา 276 หรือ 277 ดังนั้นเมื่อก่อน “ผู้ใด” กระทำชำเราศพ จึงไม่สามารถเอาผิดฐานกระทำชำเรา เพราะขาดองค์ประกอบความผิด หากญาติของศพจะเอาเรื่องกับผู้ชำเราศพ เอาเรื่องได้แค่ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ หรือก่อความเดือดร้อนรำคาญเท่านั้น

แต่ปัจจุบันกฎหมายถือว่า การชำเราศพมีความผิดแล้ว

ไม่ว่าจะใช้อวัยวะเพศล่วงล้ำสังวาสเข้าไปในอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของศพ หรือใช้สิ่งอื่นใดกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของศพ เพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ ปัจจุบันกฎหมายถือว่าเป็นการชำเราศพทั้งสิ้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทำนองเดียวกับ ความผิดฐานอนาจารศพ ตามมาตรา 366/2 การที่ศพไม่มีสภาพบุคคล จึงมิใช่ “ผู้อื่น” ดังนั้นในอดีต ผู้ที่ทำอนาจารกับศพ เช่น กอด จูบ ลูบ คลำ กระทำอย่างหนึ่งอย่างใดต่อศพ อันเป็นการไม่สมควรทางเพศ หรือทำให้ศพกลายเป็นวัตถุทางเพศ จึงไม่มีความผิดไปด้วย เพราะขาดองค์ประกอบ

แต่ปัจจุบันกฎหมาย ถือว่า การทำอนาจารแก่ศพ ในลักษณะกอด จูบ ลูบ คลำ หรือทำให้ศพกลายเป็นวัตถุทางเพศ ล้วน มีความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ การเคลื่อนย้าย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือ ไร้ประโยชน์ ซึ่งศพ ชิ้นส่วนของศพ อัฐิ หรือ เถ้าของศพ โดยไม่มีเหตุอันควร เช่น เคลื่อนย้ายศพ เพื่อเจตนาซ่อนเร้นปิดบังการตาย หรือทำให้ศพเสียหายด้วยวิธีอื่น ล้วนเป็นความผิด ตาม ป.อ.มาตรา 336/3 ทั้งสิ้น

“การทำให้ศพเสียหายในมาตรานี้ ใช้หลักการเดียวกับการทำให้เสียทรัพย์ เช่น เคยโกรธเคืองเป็นศัตรูกันมาก่อน ตายแล้วก็ยังไม่หายแค้น ไปเอาศพมาทุบตี ตัดแขน ตัดขา หรือปู้ยี่ปู้ยำ นำเถ้ากระดูกไปทำลายทิ้ง เป็นต้น ผู้กระทำมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ผศ.สาวตรีอธิบายต่อว่า นอกจากนี้ตามกฎหมายอาญาใหม่ การดูหมิ่นศพ ก็ถือเป็นความผิด

“เมื่อก่อนไม่มีความผิดฐานนี้ มีแค่ความผิดฐานหมิ่นประมาทศพ แต่ล่าสุด การด่าทอ กล่าวคำหยาบคาย หรือเหยียดหยามศพ ยกตัวอย่าง ไปยืนด่าศพที่ตั้งสวดอยู่บนศาลาภายในวัด กฎหมายอาญามาตรา 366/4 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

เป็นที่น่าสังเกตว่า การดูหมิ่นศพ ถือว่ารุนแรงกว่าการดูหมิ่นบุคคลทั่วไปซึ่งหน้าเสียอีก เพราะการดูหมิ่นบุคคลทั่วไปซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.393 เป็นความผิดลหุโทษ ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 1 เดือน ยังอยู่ในอำนาจเปรียบเทียบปรับของพนักงานสอบสวน

แต่การดูหมิ่นศพ ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 3 เดือน ถือว่าอยู่ในอำนาจของศาล

เธอว่า นอกจากนี้ยังได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมอัตราโทษปรับ กรณีกระทำชำเราเด็ก ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ให้มีโทษสูงขึ้น

โดย ม.277 วรรคแรก บอกว่า กรณีชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ เดิมเฉพาะในส่วนโทษปรับ ปรับตั้งแต่ 8,000-40,000 บาท ปัจจุบันเพิ่มโทษปรับเป็น ปรับตั้งแต่ 80,000-400,000 บาท

ม.277 วรรคสอง กรณีชำเราเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี ไม่ว่าเด็กนั้น จะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ของเดิมเฉพาะโทษปรับ ปรับตั้งแต่ 14,000-40,000 บาท ปัจจุบันเปลี่ยนให้แรงขึ้นเป็น ปรับตั้งแต่ 140,000- 400,000 บาท

ม.277 วรรคท้าย เป็นกรณีเพิ่มอำนาจให้ศาลคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กที่ถูกกระทำผิด โดยเพิ่มเนื้อความให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเด็ก มีอำนาจ สั่งเป็นอย่างอื่นได้ นอกเหนือจากสั่งอนุญาตให้ผู้กระทำผิดทำการสมรสกับเด็กผู้นั้น

นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขข้อต่อสู้ของจำเลยในชั้นศาล กรณีที่จำเลยต่อสู้ว่า “ขาดเจตนากระทำผิด เพราะจำเลยไม่รู้องค์ประกอบภายนอกของความผิด” ล่าสุด กฎหมายอาญาห้ามจำเลยหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาต่อสู้ในชั้นศาล

ส่วนกรณีที่จำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี ตาม ม.277 หรืออนาจารเด็ก ตาม ม.279 เป็นธุระจัดหาเด็กไปให้ผู้อื่นอนาจาร โดยเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ปัจจุบันกฎหมายห้ามจำเลยอ้างว่า “ไม่รู้ว่าเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี” นำไปใช้ต่อสู้คดีให้พ้นผิดในชั้นศาล

รวมความแล้ว ตามกฎหมายอาญาที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขและใช้บังคับในปัจจุบัน ผู้ใดขืนเข้าไปข้องแวะทางเพศกับ “เด็ก” หรือ “ศพ” เตรียมพบจุดจบอันสาหัสตามกฎหมายไว้ได้เลย