TH | EN


วันที่เพิ่มข้อมูล : 3 august 2559
มีผู้เข้าชมทั้งหมด : 10138 ครั้ง

ทรัพย์สินระหว่างสามี ภรรยา

ทรัพย์สินระหว่างสามี ภรรยา

การแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามี ภรรยา ทั้งจดทะเบียนสมรสและไม่ได้จดทะเบียนสมรส

 

ก่อนจะกล่าวถึงการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามี ภรรยา ทั้งจดทะเบียนสมรสและไม่ได้จดทะเบียนสมรส ควรจะต้องกล่าวถึงคำว่าสามี ภรรยา ตามกฎหมายเป็นอย่างไรก่อน

     ตามกฎหมายถ้าเรียกว่าสามี ภรรยา นั้น หมายถึงชายและหญิง ต้องจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ถ้าไม่จดทะเบียน น่าจะเรียกคำทั่วไป คือ ผัว-เมีย มากกว่า เพราะเป็นคำใช้รวมได้ทั้งจดและไม่จดทะเบียน

      คราวนี้มาว่าเรื่องของสามีภรรยาตามกฎหมายนั้น มีการแบ่งทรัพย์สินอย่างไร ตามกฎหมายแบ่งออกเป็นสินส่วนตัวและสินสมรส ถ้าเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายใดก็เป็นสิทธิเป็นเจ้าของ 100 % ของฝ่ายนั้น อีกฝ่ายจะมายุ่งไม่ได้ แต่หากเป็นสินสมรส ก็ต้องแบ่งกันคนละครึ่ง

     ส่วนอย่างไรจะเรียกว่าสินส่วนตัว คราวนี้จำง่ายๆ ถ้าทรัพย์สินของฝ่ายใดที่ได้มีอยู่ก่อนสมรสก็ให้ถือเป็นสินส่วนตัวไว้ก่อน และยังมีทรัพย์สินที่ถือเป็นสินส่วนตัวอีก คือ ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะของตน  และของหมั้นที่ฝ่ายหญิงได้รับมา และทรัพย์สินที่หญิงหรือชายได้รับมาระหว่างสมรส โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา (ทรัพย์นี้ถือเป็นส่วนที่ต้องจำไว้  เพราะเป็นทรัพย์ที่ได้มาระหว่างสมรส แต่กฎหมายให้ถือเป็นสินส่วนตัว)

                ส่วนสินสมรสนั้น  ให้ถือหลักว่าทรัพย์สินใดได้มาระหว่างสมรส ก็ถือว่าเป็นสินสมรส และทรัพย์ที่ได้มาระหว่างสมรส โดยพินัยกรรมยกให้ หรือโดยการให้ ในระหว่างสมรส กฎหมายให้ถือว่าเป็นสินส่วนตัว แต่ถ้าพินัยกรรมหรือการให้ได้ทำเป็นหนังสือและระบุไว้ว่าเป็นสินสมรส อย่างนี้ถือเป็นสินสมรสทันที (ควรอ่านและทำความเข้าใจให้ดี อย่าสับสนเด็ดขาด) และยังมีทรัพย์อีกประเภทหนึ่ง คือดอกผลของสินส่วนตัว  กฎหมายให้ถือว่าดอกผลที่ว่านี้เป็นสินสมรส ท่านอาจถามว่าดอกผลคืออะไร คำตอบตามกฎหมายดอกผลคือ ทรัพย์สินที่เกิดเพิ่มขี้นเนื่องจากสินส่วนตัวของหญิงหรือชายนั้น ยกตัวอย่างเช่น ดอกเบี้ย เป็นต้น ซึ่งในความรู้สึกของคนทั่วไปต้องคิดว่าดอกผลของสินส่วนตัว ที่ได้มาระหว่างสมรส ก็ต้องเป็นสินส่วนตัวซิ แต่ในทางกฎหมายไม่ใช่ จึงควรจำให้ดี 

           และหากมีการโต้เถียงกันเรื่องสินสมรส สินส่วนตัว ถ้าต้องฟ้องร้องต่อศาล  ผู้ฟ้องก็ต้องนำพยานเอกสาร พยานบุคคลมาแสดงให้ศาลเห็นชัดเจน เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัว ศาลจะได้พิจารณาพิพากษาได้ถูกต้อง

        ส่วนชายและหญิงที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย   หากทำมาหากินมาด้วยกันระหว่างการอยู่กินกันมา ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่กินกัน ถือได้ว่าเป็นของส่วนกรรมสิทธิ์ร่วมกัน มีสิทธิในทรัพย์สินแต่ละฝ่ายคนละครึ่ง ไม่ว่าชายจะเป็นคนหากิน หญิงเป็นคนอยู่ดูแลบ้านก็ตาม หรือกลับกันก็ตาม  เพราะถือว่าต่างฝ่ายต่างแบ่งหน้าที่กันทำมาหากินนั้นเอง

       ดังนี้ถ้ามีอันต้องหย่าหรือเลิกกัน ก็ต้องแบ่งทรัพย์สินตามควรแต่ละกรณีเป็นเรื่องๆไป

       แต่ทางที่ดีที่สุดนั้น  หญิงหรือชายจะจดทะเบียนหรือไม่อยากจดทะเบียนสมรส ก็ควรปรึกษานักกฎหมายก่อนแต่งงานเกี่ยวกับทรัพย์สินเป็นดีที่สุด  เพราะจะได้จัดการทรัพย์สินได้ถูกต้อง ไม่เป็นปัญหาภายหลัง ที่ทำให้เลิกกันแล้ว แทนที่จะแยกกันไป กลับต้องมาเจอกันหลังแยกทาง เพราะเหตุต้องมาโต้แย้งเรื่องแบ่งทรัพย์สินกันนั้นเอง