TH | EN


วันที่เพิ่มข้อมูล : 2 august 2559
มีผู้เข้าชมทั้งหมด : 2498 ครั้ง

D N A กับการพิสูจน์ การเป็นบุตร ของบิดามารดา มีผลทางกฎหมายอย่างไร และ

 D N A กับการพิสูจน์ การเป็นบุตร ของบิดามารดา มีผลทางกฎหมายอย่างไร และต้องทำอย่างไร

 

D N A กับการพิสูจน์ การเป็นบุตร ของบิดามารดา

 

ในโลกที่มีวิทยาการที่ก้าวหน้าที่สามารถโคลนนิ่ง สัตว์ หรือมนุษย์ ได้นั้น สิ่งหนึ่งที่ใช้คือพันธุกรรม (DNA)  และในอดีตและปัจจุบับมีการนำการแยก D N A  ซึ่งปกติใช้ในการแยกพันธุกรรม   มาใช้ในด้านการพิสูจน์บุคคลเพื่อทราบว่าเป็นบุตรของบิดามารดาหรือไม่  ซึ่งก็เป็นผลดี เพราะเมื่อผลออกมาว่าใช่หรือไม่ ก็จะหมดข้อโต้แย้ง ไม่ต้องมีข้อกังขาอีกต่อไป

                ในการตรวจพิสูจน์ D N A เพื่อทราบว่าเป็นบุตรของบิดามารดาหรือไม่นั้น สามารถขอตรวจได้เสมอ แม้ยังไม่มีการฟ้องร้อง หรืออยู่ระหว่างการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน หรือชั้นศาล แต่ต้องเสียเงินค่าตรวจเสมอ ไม่มีฟรีครับ ยกเว้นท่านขอความช่วยเหลือกับมูลนิธิ ซึ่งมูลนิธิจะเป็นผู้ชำระแทน

                ส่วนถ้าขณะเวลามีข้อโต้แย้งว่าเป็นบุตรหรือไม่ คู่กรณี ไม่ว่า บิดา มารดา บุตร ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากไม่ยอมให้ตรวจ D N A  ก็ไม่สามารถตรวจได้ ดังนั้นในการตรวจของผู้ตรวจจึงควรให้ทำหนังสือยินยอมให้ตรวจทุกครั้งทุกคน เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น  แต่ถ้าตรวจในหน่วยงานหนึ่งแล้วไม่แน่ใจไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ก็ไม่มีข้อห้ามว่าห้ามตรวจซ้ำอีก เพียงแต่ท่านอาจร้องขอหรือว่าจ้างให้หน่วยงานแห่งอื่นตรวจใหม่ได้ แต่วิธีการตรวจถ้าให้ชัดเจนควรตรวจอย่างน้อย 2 แห่ง และทั้ง บิดา มารดา บุตร ควรไปเจาะเลือดตรวจพร้อมกัน จะดีที่สุด

                ถ้าถามว่าอยู่ดีๆ ไปตรวจ D N A เพื่อเช็คดูว่าเป็นบุตรเราดีหรือไม่ เรื่องนี้เป็นนานาจิตตัง หากถ้าเรามั่นใจ ว่าเป็นลูกเราจริงก็ไม่จำเป็น แต่ถ้าไม่มั่นใจ เช่น ลูกเราสีผิวผิดจากพ่อแม่  หน้าตาดันไม่เหมือนเราเลย ถ้าสงสัยก็เชิญท่านตรวจได้  เพราะจะได้หายสงสัยเสียที

ในปัญหาเรื่องเป็นลูกเราหรือไม่นี้ ข้อกฎหมายครอบครัว ให้ถือว่าลูกที่ไม่มีการสมรสเป็นลูกของแม่เสมอ แต่พ่อไม่ใช่ หากพ่อต้องการเป็นพ่อตามกฎหมายต้องไปจดทะเบียนรับรองบุตร

                ในกรณีที่มีการฟ้องให้พิสูจน์เพียงว่าเป็นบุตรหรือไม่ ในศาลทำได้หรือไม่ ในศาลทำได้ แต่ในการดำเนินคดีปกติทั้งทนายความ อัยการ ส่วนมากจะเป็นการฟ้องให้ศาลสั่งว่าเป็นบุตรที่บิดารับรองเป็นบุตรตามกฎหมาย    เมื่อศาลเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดี  ก็อาจมีการขอต่อศาลให้เจาะเลือดพิสูจน์ D N A ว่าเป็นบุตรหรือไม่ แต่ถ้า บิดา มารดา บุตร ฝ่ายใดไม่ยินยอมให้ตรวจพิสูจน์ ศาลจะบังคับไม่ได้ บุตรต้องนำสืบในพฤติการณ์ที่ผ่านมาในอดีตให้เข้าข้อกฎหมายว่าบิดารับรองว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

            ไม่ว่ากรณีใดเช่น บิดาที่ไปมีเพศสัมพันธ์กับหญิงแบบไม่มีความคิดว่าต้องการหญิงนั้นเป็นภรรยาตน และหญิงนั้นเกิดท้อง และคลอดบุตรออกมาในช่วงเวลานั้น ถ้าสงสัยก็ควร ตรวจ D N A เพื่อทราบว่าเป็นบุตรตนเองหรือไม่ เพราะถ้าเป็นบุตรซึ่งเป็นสายเลือดเรา บุตรจะได้รับการเลี้ยงดูตามฐานะของบุตร ซึ่งเป็นสิ่งดีสำหรับเด็กและบิดาด้วย แต่ถ้าไม่ใช่บุตรของตนเองก็แล้วไป  จะทำให้หญิงนั้นก็จะไม่มีเรื่องมาตามให้ยอมรับว่าเป็นบิดาของเด็กอีก แต่อาจมีการช่วยตามสมควร เพราะมีความสัมพันธ์กันมาในอดีตนั่นเอง

            บิดา ที่ถูกมารดาหรือบุตรเรียกร้องให้รับเป็นบิดา ก่อนนำคดีสู่ศาล ควรตรวจ D N A เพื่อพิสูจน์ทุกรายครับ  เพราะทางศีลธรรม ถ้าเป็นบุตรของบิดาจริง บิดาก็ต้องเลี้ยงดู  แต่แม้ผลการตรวจจะเห็นชัดเป็นบุตรจริง แต่ถ้าบิดาไม่เคยมีพฤติการณ์ตามกฎหมายรับรองว่าเป็นบุตร  และบิดาจะไม่ยอมจดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตนเสียอย่าง      เพราะจะมีผลตามกฎหมายเยี่ยงบุตรคนหนึ่งทันที ทั้งนี้ที่บิดาไม่ยอมรับรองบุตรนั้น  บิดาอาจมีสาเหตุได้ในหลายๆเรื่องจนไม่สามารถจดรับรองได้   เช่นหากจดอาจมีปัญหาครอบครัวกับภรรยา หรือบุตรที่อยู่ด้วยกันปัจจุบัน  ทำให้บิดาไม่สามรถรับรองบุตรได้       ดังนี้ตามกฎหมายแม้ผลพิสูจน์ว่าเป็นบุตร ก็ยังไม่ถือว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดานั้น แต่แม้นว่าบิดาที่ไม่สามารถจดรับรองบุตรได้ก็จริง แต่เนื่องจากรู้ว่าตนเป็นบิดาของบุตรจริง   บิดาก็สามารถส่งเสีย  เลี้ยงดูบุตร  เป็นการส่วนตัวได้ และหากอยากยกทรัพย์สินให้บุตรเมื่อตนตายแล้ว   ก็สามารถทำได้โดยการทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้   ระวังอย่าไปยกหนี้ให้ ซึ่งอาจเป็นได้ในทางอ้อม เช่นยกหุ้นในบริษัทฯ ที่เป็นหนี้สินล้นพ้นตัวให้ อย่างนี้แย่แน่ แต่ไม่ต้องห่วง บุตรอาจทำหนังสือสละไม่รับมรดกก็ได้   และการทำพินัยกรรมนั้นทำได้ทั้งแบบเป็นพินัยกรรมฝ่ายเมือง ให้ไปจดแจ้งทำพินัยกรรมที่อำเภอ หรือพินัยกรรมทำเป็นหนังสือ หรือพินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับ แต่อย่าลืมทำพินัยกรรมเสร็จแล้วบอกคนที่ไว้ใจ หรือทนายความส่วนตัวไว้ด้วย ว่าตนเองทำพินัยกรรมอะไรไว้ที่ไหน  เดี่ยวตอนตายแล้ว   จะไม่มีใครรู้ว่าทำพินัยกรรมไว้ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้พินัยกรรมนั้นก็จะตายตามตัวเองไปด้วย