TH | EN


วันที่เพิ่มข้อมูล : 21 july 2559
มีผู้เข้าชมทั้งหมด : 1135 ครั้ง

อยากหย่า แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมหย่า ต้องทำอย่างไร?

อยากหย่า แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมหย่า ต้องทำอย่างไร

                ปัจจุบันปัญหาทางเศรษฐกิจ มีผลกระทบต่อครอบครัวอย่างมาก เนื่องจากต่างฝ่ายต่างไม่มีเวลาให้แก่กัน ก่อให้เกิดช่องว่าง เมื่อมีช่องว่างเกิดขึ้นก็จะมีปัญหาตามมาหลายอย่าง บางคู่อยู่ด้วยกันไม่ได้ ถ้าตกลงกันได้ก็พากันไปจดทะเบียนหย่าที่สำนักงานเขต แต่ที่เขาตกลงกันไม่ได้หรือมีเหตุบางประการ ก็ต้องไปฟ้องร้องเป็นคดีความกันไม่ใช่น้อย แต่การไปฟ้องหย่าที่ศาลไม่ใช่ว่าศาลจะมีคำพิพากษาให้หย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากันทุกรายน่ะ ต้องมีเหตุหย่าด้วย เหตุในการฟ้องหย่า มีดังนี้

1 สามีให้การอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภรรยาหรือภรรยามีชู้ อันนี้เป็นเหตุสำคัญเลยล่ะ ไม่มีใครที่ไหนทนให้สามีหรือภรรยาของตนเองทำอย่างนี้ได้  บางรายฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกันเป็นสิบๆล้านก็มี

2     สามีหรือภรรยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง

             (ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างรุนแรง

             (ข) ถูกบุคคลภายนอกดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภรรยาของอีกฝ่าย หรือ

             (ค)ได้รับความเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

3   สามีหรือภรรยาทำร้ายหรือทรมานร่างกายหรือจิตใจหรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง  อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

4  สามีหรือภรรยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

      *สามีหรือภรรยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภรรยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

      *สามีและภรรยาสมัครใจแยกกันอยู่ เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปีหรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

5  สามีหรือภรรยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

6  สามีหรือภรรยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปรปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

7   สามีหรือภรรยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตมีลักษณะยากที่จะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

8     สามีหรือภรรยาผิดทัณฑ์บนที่ทำไว้ให้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

9  สามีหรือภรรยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง อันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่ง และโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

10  สามีหรือภรรยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภรรยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

     แต่เหตุในข้อ 1 และ 2  ถ้าสามีหรือภรรยาแล้วแต่กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำที่เป็นเหตุหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้น จะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้

     เช่นเดียวกันกับเหตุในข้อ 10 ถ้าเกิดจากการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้

โอ้โห้ เหตุทั้ง 10 ประการ ถือเป็นเหตุที่สามารถฟ้องหย่าได้ แต่ต้องดูด้วย ไม่ใช่ว่า สามีเคยให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูเดือนละ 10,000 บาท พอเศรษฐกิจไม่ดี จ่ายแค่ 5,000 บาท อย่างนี้ถือว่าไม่ใช่เหตุแห่งการหย่า ฟ้องไม่ได้

อ้อ แล้วที่สำคัญ หากจะเรียกค่าเลี้ยงชีพคุณและบุตร คุณจะต้องฟ้องเรียกไปพร้อมกับการฟ้องหย่าในฟ้องเดียวกัน หากไม่ทำจะฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพเป็นฟ้องใหม่ไม่ได้ที่หลังไม่ได้ และหากศาลสั่งให้อีกฝ่ายหนึ่งจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้อีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพทำการสมรสใหม่ สิทธิในการรับค่าเลี้ยงชีพย่อมหมดไปเช่นกัน

ที่สำคัญ หากท่านตกลงหย่ากันได้ ก็ไม่ต้องฟ้องหย่า แต่ให้สามีและภรรยา ไปจดทะเบียนหย่าที่เขตหรืออำเภอกับเจ้าหน้าที่และอย่าลืมบันทึกข้อตกลงเรื่องอำนาจปกครองบุตรและทรัพย์สินให้ชัดเจน อ่านแล้วไม่ต้องตีความ ไว้ให้เรียบร้อยด้วย เสร็จแล้วเก็บใบหย่าไว้คนละฉบับ

หย่าแล้ว ภายหลังอยากสมรสใหม่ก็มาจดใหม่ได้ ไม่เสียหายอะไร

ตัวอย่างในการฟ้องหย่า และเรียกค่าเสียหาย กรณีที่ฝ่ายชายไปมีหญิงอื่น(มีกิ๊ก ชู้  หญิงคนใหม่)

                นาย ก. แต่งงานจดทะเบียนสมรสกับ นาง ม. มา 30 ปี มีบุตรด้วยกัน 3 คน บุตรทั้งสามคนบรรลุนิติภาวะแล้ว ปัจจุบัน นาย ก. ทำการค้ามีหน้าตาในสังคม ไปไหนใครก็รู้จัก ต่อมานาย ก. แอบได้เสียกับ นางสาว จ. จนมีบุตรด้วยกัน 1 คน และยกย่องเชิดชูนางสาว จ. ออกหน้าออกตา ต่อมา นาง ม. ทราบเรื่อง อย่างนี้สามารถฟ้องหย่านาย ก. เป็นจำเลยที่ 1 และนางสาว จ. เป็นจำเลยที่ 2 โดยเรียกค่าเสียหายจากนางสาว จ. เป็นเงินหลายสิบล้านบาทได้  แต่ทั้งนี้ค่าเสียหายจะมากน้อยเท่าไร ต้องคำนึงถึงผู้เสียหาย เสียหายอย่างไร ร่ำรวยเท่าไร มีชื่อเสียง และมีหน้าตาในสังคม  ซึ่งเมื่อเกิดความเสียหาย   ทำให้ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างรุนแรง ตกงาน คนในสังคมไม่คบด้วย ไม่ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

                ฉะนั้น ตามตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่า นอกจากนาง ม. จะฟ้องหย่าได้แล้ว ยังสามารถเรียกค่าเสียหายจาก นางสาว จ. ได้อีก  เพราะฉะนั้นถ้าคิดจะไปมีกิ๊ก ชู้ หญิงอื่น ก็ควรควรคิดไตร่ตรองให้รอบคอบ

คำพิพากษาฎีกาที่ 4130/2548 
        ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่ภริยาชอบด้วยกฎหมายที่จะเรียกร้องค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวโดยมิได้มีเงื่อนไขว่าภริยาจะต้องเกิดความเสียหายอย่างใดหรือจะต้องเป็นภริยาที่อยู่กินกับสามีและอุปการะเลี้ยงดูกัน หรือต้องไม่มีคดีฟ้องหย่ากันอยู่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้