TH | EN


วันที่เพิ่มข้อมูล : 18 june 2559
มีผู้เข้าชมทั้งหมด : 789 ครั้ง

ค่าตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา

ค่าตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา

     กฎหมายฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2544 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2544 เป็นกฎหมายที่เปิดโอกาสให้กับผู้เสียหายในคดีอาญา หรือว่าจำเลยในคดีอาญาที่ถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดี และต่อมาศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ได้รับค่าตอบแทนหรือค่าทดแทนจากรัฐ

 การขอรับค่าตอบแทนหรือค่าทดแทนนี้จะแบ่งออกเป็นสองกรณีด้วยกันคือ

 1. กรณีของผู้เสียหาย ผู้เสียหายที่จะสามารถขอรับค่าตอบแทนได้ จะต้องเป็นผู้เสียหายที่ถูกกระทำความผิดตามรายการที่ระบุไว้ในท้ายพระราชบัญญัติซึ่งได้แก่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 9 ความผิดเกี่ยวกับเพศ มาตรา 276 ถึงมาตรา 287 ลักษณะ 10 ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย มาตรา 288 ถึง 308 เท่านั้น

     หากเป็นผู้เสียหายในความผิดอย่างอื่นจะไม่สามารถขอรับค่าตอบแทนได้ ค่าตอบแทนได้แก่

1.ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาลรวมทั้งค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ

2.ค่าตอบแทนในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย

3.ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ

4.ค่าตอบแทนความเสียหายอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร ในการพิจารณาค่าตอบแทน จะมีคณะกรรมการพิจารณากำหนดจำนวนเงินค่าตอบแทนที่สมควรได้รับ โดยจะกำหนดให้ผู้เสียหายได้รับค่าตอบแทนเพียงใดหรือไม่ก็ได้

โดยคำนึงถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำความผิด และสภาพความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับ รวมทั้งโอกาสที่ผู้เสียหายจะได้รับการบรรเทาความเสียหายโดยทางอื่นด้วย 2. กรณีของจำเลยในคดีอาญา จำเลยในคดีอาญาจะมีข้อแตกต่างจากกรณีของผู้เสียหายคือ ในกรณีของจำเลยจะไม่ได้กำหนดประเภทของความผิดไว้แต่มีเงื่อนไขว่า

1.ต้องเป็นจำเลยที่ถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการ หากเป็นกรณีที่ผู้เสียหายฟ้องคดีเองไม่ได้

2. ถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดี หากประกันตัวออกไปสู้คดีก็ไม่ได้ และ

3. ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดและมีการถอนฟ้องในระหว่างดำเนินคดี หรือปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด

การที่จะขอรับค่าทดแทนได้จะต้องเข้าเงื่อนไขทั้งสามข้อ จะขาดข้อหนึ่งข้อใดไปไม่ได้ ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายได้แก่

1. ค่าทดแทนการถูกคุมขัง ให้คำนวณจากจำนวนวันที่ถูกคุมขังในอัตราที่กำหนดไว้สำหรับการกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา (ปัจจุบันอยู่ในอัตราวันละ 70 บาท)

2.ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาลรวมทั้งค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ หากความเจ็บป่วยของจำเลยเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี

3. ค่าทดแทนในกรณีที่จำเลยถึงแก่ความตาย และความตายนั้นเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี

4.ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างถูกดำเนินคดี

5. ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินคดี วิธีการยื่นคำขอ ผู้เสียหาย จำเลย หรือทายาทซึ่งได้รับความเสียหาย จะต้องยื่นคำขอต่อคณะกรรมการ ณ สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาตามแบบที่กำหนด ภายในเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายได้รู้ถึงการกระทำความผิดหรือในกรณีของจำเลย ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้อง เพราะปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือวันที่มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ สามารถที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด

     ในการยื่นอุทธรณ์นั้นจะยื่นต่อสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา หรือจะยื่นต่อศาลจังหวัดที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจ เพื่อส่งต่อให้แก่ศาลอุทธรณ์ก็ได้และในการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีอำนาจไต่สวนหลักฐานเพิ่มเติมโดยสืบพยานเอง หรืออาจแต่งตั้งให้ศาลชั้นต้นทำการแทนตามที่เห็นสมควรก็ได้