TH | EN


วันที่เพิ่มข้อมูล : 9 july 2562
มีผู้เข้าชมทั้งหมด : 912 ครั้ง

อาชีพต้องห้ามต่างด้าว ฝ่าฝืน!ปรับหนัก 5 หมื่น

           ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา “กระทรวงแรงงาน” ...มีนโยบายกวาดล้างแรงงานต่างด้าวที่ทำงานผิดกฎหมายกันอย่างเข้มงวด

           โดยได้สั่งการให้กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ และสำนักงานจัดหางานจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวทำงานเป็นจำนวนมาก เช่น สมุทรสาคร ปทุมธานี สมุทรปราการ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่  กรุงเทพมหานคร อาทิ เขตห้วยขวาง เขตสุขุมวิท ซึ่งมีสถิติการลักลอบทำงานสูง ให้จัดชุดปฏิบัติการลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และฝ่ายปกครองตรวจเข้มการทำงานของแรงงานต่างด้าวและดำเนินคดีอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัดเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน ให้ข้อมูลว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561-19 มิถุนายน 2562 ได้ตรวจสอบการทำงานของแรงงานต่างด้าวไปแล้ว จำนวน 419,696 คน และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือ...ขายสินค้า ขายอาหารตามแผงต่างๆ ขายของหน้าร้านรวมทั้งเร่ขายสินค้าและงานอื่นๆ ได้แก่ พนักงานรักษาความปลอดภัย วินมอเตอร์ไซค์ นวดแผนไทย และเสริมสวย ซึ่งเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำตามกฎหมาย จำนวน 6,676 คนส่วนใหญ่เป็น “สัญชาติเมียนมา” มากที่สุด 4,251 คน รองลงมาเป็นกัมพูชา 1,060 คน ลาว 676 คน เวียดนาม 355 คน และอื่นๆ 334 คน โดยได้เปรียบเทียบปรับแรงงานต่างด้าว คิดเป็นเงินค่าปรับ 28,920,200 บาท...ผลักดันส่งกลับประเทศต้นทางแล้ว 6,529 คนขณะที่ตรวจสอบนายจ้าง...สถานประกอบการไปแล้ว 25,478 ราย/แห่ง ดำเนินคดี 1,429 ราย/แห่ง คิดเป็นเงินค่าปรับจำนวน 12,225,400 บาท รวมค่าปรับทั้งนายจ้างและแรงงานต่างด้าวทั้งสิ้น 41,145,600 บาท

เพชรรัตน์ ย้ำว่า แรงงานต่างด้าวต้องมีใบอนุญาตทำงานและทำงานตรงกับที่ระบุไว้ในใบอนุญาต โดยงานที่ทำต้องไม่ใช่งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำหรือนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้

หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ 5,000–50,000 บาท

หากผู้ใดพบเห็นคนต่างด้าวทำงานผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด

สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1–10 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน...เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบต่อไป

ภาพรวมสถานการณ์แรงงานต่างด้าวในประเทศไทยตัวเลขกลมๆอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านคน รัฐบาลได้จัดระเบียบแรงงานต่างด้าวเพื่อป้องกันปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายและปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานโดยได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และ NGOs แก้ปัญหาอย่างจริงจัง

ที่ผ่านมา...กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้บริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวโดยร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานความมั่นคง เปิด “ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS)”

เพื่อให้แรงงานต่างด้าว กัมพูชา ลาว เมียนมา เข้ามาดำเนินการจัดทำปรับปรุงทะเบียนประวัติ ตรวจลงตรา (VISA) และขอใบอนุญาตทำงาน มีแรงงานต่างด้าวมาดำเนินการทั้งสิ้น 1,187,803 คน แยกย่อยเป็นกัมพูชา 350,840 คน ลาว 59,746 คน เมียนมา 777,217 คน

นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงแก้ไขพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้วันที่ 1 กรกฎาคม 2561

เพื่อให้การขับเคลื่อนการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล กรมการจัดหางานได้มีคำสั่งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานกรมการจัดหางานขึ้น มีอำนาจในการตรวจสอบปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานผิดกฎหมาย

รวมทั้งควบคุม ตรวจสอบบริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศให้ปฏิบัติตามกฎหมาย

ประเด็นสำคัญที่ต้องเน้นย้ำ...ภายหลังจากปิดศูนย์ OSS แล้ว รัฐบาลมีนโยบายไม่ขยายระยะเวลาในการพิสูจน์สัญชาติให้แก่แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ

และ...เมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายผ่อนผัน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับแรงงานต่างด้าวและผู้เกี่ยวข้องที่กระทำผิดกฎหมาย

ภารกิจสำคัญนี้กรมการจัดหางานได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดชุดปฏิบัติการฯบูรณาการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมดำเนินคดีคนต่างด้าวลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมายทั่วประเทศ โดยปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มข้นจริงจัง และต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นมา

ตัวอย่างการดำเนินงาน เช่น ตรวจสอบนายจ้าง/สถานประกอบการ, ดำเนินคดีข้อหารับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน ตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว และ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง

ตรวจสอบแรงงานต่างด้าว...ดำเนินคดีข้อหาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว และ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง...ผลักดันส่งกลับ ปรับนายจ้างและแรงงานต่างด้าว

นโยบายที่เน้นย้ำสำหรับ...เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการฯ คือการ... ตรวจสอบ ปราบปรามผู้ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้ยึดถือความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ ขจัดการเรียกรับผลประโยชน์และการเอารัดเอาเปรียบแรงงานต่างด้าว

เป้าหมายปลายทางคือ...ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเงื่อนปัญหา... “แรงงานต่างด้าวที่แย่งอาชีพคนไทย”

ไม่ว่าจะเป็น...งานขายของหน้าร้าน งานมัคคุเทศก์...ไกด์เถื่อน งานเร่ขายสินค้า งานตัดผม ดัดผมหรืองานเสริมสวย นับรวมไปถึง...“แรงงานกลุ่มเสี่ยง” เช่น แรงงานต่างด้าวทำงานตามสถานบันเทิง ร้านคาราโอเกะ ร้านนวด และสถานประกอบการที่เข้าถึงยาก...

แรงงานต่างด้าวตามสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดชายทะเล เช่น เกาะต่างๆ อาทิ เกาะเต่า เกาะสมุย เกาะเสม็ด รวมทั้งแรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการและนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว

กรณีโทษของคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ์จะทำได้ คือปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท

และเมื่อชำระค่าปรับแล้วคนต่างด้าวจะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ขณะที่นายจ้างรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ์จะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท ต่อคนงานต่างด้าวที่จ้าง 1 คน หากกระทำผิดซ้ำ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี

หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท ต่อคนงานต่างด้าวที่จ้าง 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับและห้ามไม่ให้มีการจ้างคนต่างด้าวทำงานอีกเป็นเวลา 3 ปี

ทั้งหมดเหล่านี้เชื่อได้ว่าคนในแวดวงแรงงานต่างด้าว...น่าจะรู้ดีกันอยู่แล้ว คงไม่หรรษาพาเพลินรู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหาง อยู่ๆกันไปแบบไทยๆเหมือนวันวานที่ผ่านมาไม่ได้อีกแล้ว.

ที่มา : ไทยรัฐฉบับพิมพ์