TH | EN


วันที่เพิ่มข้อมูล : 19 october 2560
มีผู้เข้าชมทั้งหมด : 627 ครั้ง

อ้างไม่รู้ไม่ได้! 10 กฎหมายรถยนต์ต้องรู้ เพื่อความอยู่รอดบนท้องถนน

       จากสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยที่มีมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ทำให้ไทยต้องมีกฎหมายมากมายบนท้องถนน รวมถึงเพิ่มระดับความยากในการสอบใบขับขี่ เพื่อปกป้องตัวผู้ขับขี่เอง เพื่อนร่วมทาง หรือแม้แต่คนที่อยู่ข้างทางที่อาจได้รับความอันตรายต่อผู้ที่ทำผิดกฎหมายได้ แต่อย่างไรก็ กฎหมายเหล่านี้ยังไม่แน่ว่าจะช่วยลดความเสี่ยงลงได้ สิ่งสำคัญคือตัวของพวกเราเองที่ต้องมีความระมัดระวัง และไม่ประมาทในการขับรถ ในบทความนี้ได้รวบรวมกฎหมายยอดฮิตที่มีความสำคัญบนท้องถนนให้เพื่อนๆ ได้มารับทราบกัน

1.แอลกอฮอล์เกิน 50 มก. = เมา

     เป็นกฎหมายใหม่ที่เพิ่งออกให้เริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา หากผู้ขับขี่รถยนต์ชนิดต่างๆ ยกเว้นรถไฟ และรถราง มีแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะถือว่าเมาสุรา ตามมาตรา 43(2) ผู้ขับขี่ที่ถูกตรวจพบว่าเมาสุรา จะต้องโดนจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000-20,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลจะพักใช้ใบอนุญาติขับขี่ของผู้นั้นไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรืออาจถูกเพิกถอนใบอนุญาติขับขี่ได้

2. ต้องรัดเข็มขัดแม้นั่งหลัง

     เป็นกฎหมายที่เพิ่งเริ่มใช้เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยมีสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รัฐบาลจึงมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ตามมาตรา 44 ฉบับที่ 14/2560 สั่งให้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน รถแท็กซี่ รถตู้ และรถกระบะ ยกเว้น รถ 2 แถว รถกระบะมีแค็บ และรถ 3 ล้อเครื่อง จะต้องมีสายเข็มขัดนิรภัย และต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง บทลงโทษคือ คนขับและผู้โดยสารรถเก๋ง รถแท็กซี่ และรถกระบะ ปรับไม่เกิน 500 บาท ส่วนรถตู้ รถทัวร์ รถบรรทุกสินค้า ปรับไม่เกิน 5,000 บาท

3. นั่งกระบะหลังไม่ได้

     กฎหมายนี้ก็เพิ่งออกผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน เนื่องจากรถกระบะที่มีแค็บเป็นรถที่จดทะเบียนเป็นรถกระบะบรรทุกส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง อีกทั้งบริเวณกระบะหลังไม่มีอุปกรณ์สำหรับความปลอดภัย และเป็นที่สำหรับไว้บรรทุกของเท่านั้น จึงถือว่าเป็นการใช้รถผิดประเภท ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 21 มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

 

4. ห้ามไฟหน้าหลายสี

     จากมาตรา 11 ในเวลากลางคืน หรือในที่มืด รถจะต้องเปิดไฟ หรือใช้แสงสว่างตามลักษณะที่กำหนด คือโคมไฟส่องสว่างหน้ารถจะต้องมีสีขาว หรือสีเหลืองเท่านั้น และจะต้องมีกำลังไฟไม่เกิน 10 วัตต์ เพราะอาจทำให้ผู้ร่วมทางเกิดความรำคาญจนอาจเป็นเหตุให้เกิดความไม่ปลอดภัยได้ หากผู้ใดฝ่าฝืน จะต้องถูกปรับไม่เกิน 500 บาท

5. ห้ามเปิดไฟตัดหมอกโดยไม่มีเหตุ

     ตามพ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 11 ไฟตัดหมอกจะใช้ได้แค่ 4 กรณีเท่านั้น  คือ 1. ช่วงฝนตกหนัก 2. เมื่อเจอหมอก 3. หลังฝนหยุดในเวลากลางคืน 4. ขับผ่านกลุ่มควัน เพราะหากใช้พร่ำเพรื่ออาจสร้างความรำคาญแก่ผู้ร่วมทางบนถนนจนเป็นเหตุให้เกิดความไม่ปลอดภัยได้ หากผู้ใจฝ่าฝืนมีโทษสูงสุดปรับไม่เกิน 500 บาท

6. ห้ามใส่หลังคาซันรูฟ หรือมูนรูฟ

     เนื่องจากเข้าข่ายดัดแปลงสภาพรถในมาตรา 14 กับ 60 ว่าด้วยเรื่องดัดแปลงสภาพรถแล้วอาจเกิดความไม่ปลอดภัยได้ แต่ถ้าหากมีมาตั้งแต่โรงงานที่ผลิตตามสเป็ค ไม่ได้ดัดแปลงเอง ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย หากผู้ใดฝ่าฝืนนำมาดัดแปลงทีหลังไม่ตรงตามสเป็คโรงงาน จะต้องโดนโทษปรับ ไม่เกิน 2,000 บาท

7. ล้อยางเกินออกมานอกบังโคนข้างละหลายนิ้ว

     จากมาตรา 12 และ 60 ล้อรถ ล้อรถด้านท้ายจะยื่นออกมาจากตัวถังรถได้ไม่เกิน 15 เซนติเมตร และขอบยางด้านนอกสุดห้ามยื่นออกมาเกินตัวถังรถ เว้นแต่จะมีอุปกรณ์ที่ด้วยให้ไม่เกิดอันตราย และความเสียหายเนื่องจากการหมุนของล้อ หากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องโทษปรับ ไม่เกิน 2,000 บาท

8. ไฟเบรคต้องสีแดงเท่านั้น

     ตามมาตรา 12 และ 60 รถของผู้ขับขี่จะต้องมีไฟหยุด หรือไฟเบรคเป็นสีแดงเท่านั้น และห้ามดัดแปลงทำเป็นกระพริบด้วย เพื่อไม่ให้สร้างความรำคาญแก่คนอื่น หรือทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิด จนเป็นเหตุให้เกิดความไม่ปลอดภัยได้ หากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

9. ห้ามติดไฟสปอตไลท์ และโคมไฟตัดหมอกแสงพุ่งไกล

     ตามมาตรา 12 และ 60 กำหนดให้ไฟหน้าของรถต้องมีสีขาวหรือเหลืองอ่อนเท่านั้น สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 40 เซนติเมตร ไม่เกิน 135 เซนติเมตร ไม่สว่างจ้าเกินไป ไม่สะท้อนเข้ากระจกมองข้าง หรือกระจกมองหลังของผู้ขับขี่ที่ร่วมทาง เพราะทำให้สายตาผู้ร่วมทางพร่ามัว และจนอาจเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้จากแสงไฟที่แรงเกินค่ามาตรฐาน หากผู้ใดฝ่าฝืนติดตั้งจะต้องโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

10. เปลี่ยนท่อไอเสียเสียงดัง

     ตามมาตรา 5(2) และ 58 การเปลี่ยนแปลงท่อไอเสียรถอันเป็นส่วนหนึ่งของตัวถังรถให้ผิดเพี้ยนไปจากทะเบียนที่จดไว้แล้วทำให้มีเสียงดังกว่า 95 เดซิเบล ในรัศมี 3 เมตรจากท่อ เว้นแต่ว่าใส่เครื่องระงับเสียงเพื่อให้ไม่เกิดเสียงดังอยู่ เนื่องจากสร้างความรำคาญให้แก่ผู้อื่น หรืออาจทำให้ผู้อยู่ใกล้ๆมีปัญหาทางการได้ยินได้ หากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท