TH | EN


วันที่เพิ่มข้อมูล : 19 october 2560
มีผู้เข้าชมทั้งหมด : 2634 ครั้ง

เนรคุณต่อผู้ให้ ผู้ให้ก็มีสิทธิ์ทวงคืนได้

เนรคุณต่อผู้ให้ ผู้ให้ก็มีสิทธิ์ทวงคืนได้

มีเหตุการณ์หนึ่งที่กระผมจะขอเล่าเพื่อเป็นข้อคิด ได้รู้ และเข้าใจในขอบเขต ของ การให้โดยเสน่หา ไม่ว่าจะเป็นการให้แก่ ลูก หลาน เหลน คนรัก ลูกน้อง คนสนิทต่างๆ ที่ตนได้มีความรัก ความเอ็นดู ได้ให้สิ่งของบางอย่าง โดยไม่หวังผลตอบแทน แต่วันหนึ่งเขากลับมาทำไม่ดีแก่เราซึ่งเป็นผู้ให้ แล้วลักษณะนี้เราจะทำอย่างไร เรียกร้องคืนได้ไหม มาดูกันครับ
คุณป้าคนหนึ่งสามี เป็นชาวต่างชาติ เมื่อสามีของเธอได้เสียชีวิตลง ได้ทิ้งทรัพย์สินไว้ให้เธอ แบบใช้ 10 ชาติก็ไม่หมด ด้วยความที่ตัวคนเดียว ไม่มีลูกเต้า จึงคิดย้อนไป 30 ปีก่อนนั้นที่ประเทศไทยบ้านเกิดตน ยังมีหลานชายตัวเล็กอยู่ตั้งแต่เธอย้ายมา ไม่ได้พบหน้ากันเลย จึงได้ตัดสินใจจะกลับมาใช้บั้นปลายชีวิต ที่บ้านเกิดของเธอ ณ จุดนี้เหตุการณ์จึงได้เริ่มต้น เมื่อ ป้า หลาน ได้พบกันอีกครั้ง
เผอิญที่ป้า กลับมานั้น เจ้าหลานชายก็กำลังจะ แต่งงานพอดี ด้วยความที่เงินเหลือเก็บ เธอจึงไปซื้อบ้าน 2 หลังติดกัน และหลังหนึ่งก็ยกให้เป็นเรือนหอ ให้กับเจ้าหลานชายไป ทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี จนมาวันหนึ่ง หลานสะใภ้ ได้ตั้งท้อง เธอจึงดีใจมาก และ ด้วยความที่เงินเหลือใช้ ก็ได้ออกรถคันใหม่ป้ายแดง ยกให้แก่หลานทั้ง 2 ไว้เผื่อรับ – ส่ง ภรรยาที่ท้องไปโรงพยาบาล ดูเหมือนทุกอย่างจะราบรื่น และดีไปเสียหมด จนสะใภ้ท้องแก่ใกล้คลอดเจ้าหลานชายกลับทำตัวเปลี่ยนไป จากกินเหล้า เดือนละครั้ง เป็นอาทิตย์ครั้ง ล่ะมาเป็น 2วันครั้ง จนกลายมาเป็นเกือบทุกๆวัน สัมเรเทเมาไม่เอาการเอางาน จากเมื่อก่อน

ด้วยความเป็นห่วง คุณป้า จึงเดินเข้าไปต่อว่า ตักเตือน และด้วยความเมา เจ้าหลานตัวดี รู้สึกรำคาญ จึงผลักป้าไปทีหนึ่งอย่างแรง จนป้าตกบันไดขาหักจนไม่สามารถประกอบกรณียกิจตามปกติได้เกินกว่ายี่สิบวัน ป้าจึงเกิดความผิดหวัง และ ถือเป็นการให้เจ้าหลานตัวดีได้สำนึกในความผิด ป้าจึงทำการเรียกร้องทรัพย์สินที่ให้คืน ในกรณีนี้ผู้ให้ที่ให้ไปแล้ว สามารถเรียกร้องคืนได้ไหม ทางกฎหมายว่าอย่างไรบ้าง
ตามกฎหมายแล้ว การให้โดยเสน่หา นั้น เมื่อให้ไปแล้วก็ไม่มีสิทธิ์จะขอทวงคืนได้ แต่กฎหมายก็มีข้อยกเว้นในส่วนนี้ มีความว่า การให้ที่เกิดจากความเสน่หานั้น หากตัวผู้รับทำการเป็นเหตุให้เนรคุณต่อผู้ให้

ผู้ให้ก็มีสิทธิ์ทวงคืนทรัพย์ได้ ใน 3 กรณี
1. ถ้าผู้รับ ได้ทำการประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายลักษณะอาญา

2. ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือ หมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ

3. ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้

ดังนั้นเหตุการณ์นี้ ผู้ให้จึงเข้าข่ายที่จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้นได้ การที่ป้าถูกประทุษร้าย ทำร้ายร่างกายซึ่งเป็นความผิดอาญา จึงเป็นเหตุให้ป้า มีสิทธิ์ขอถอนคืนการให้ทรัพย์ได้แก่ ที่ดิน บ้าน และ รถ แต่กฎหมายก็มีส่วนยกเว้นอีกว่า ทรัพย์ที่ให้โดยเสน่หา ที่เป็นที่ดิน หรือ อสังหาริมทรัพย์ทั้งหลาย เพื่อเป็นสิน หรือ ของขวัญในการสมรส ไม่สามารถเรียกคืนได้
สรุปคือ คุณป้าสามารถเรียกคืนได้ เฉพาะ ในส่วนของ รถยนต์เท่านั้น เพราะส่วนของที่ดิน บ้าน ได้ให้เป็นของขวัญในการสมรส จึงไม่สามารถเรียกคืนได้ด้วยกรณีใดๆทั้งหมดทั้งสิ้น
ฎีกา 9854/2544 บุคคลชอบที่จะฟ้องเรียกคืนการให้เพราะเหตุประพฤติเนรคุณได้นั้น ต้องฟ้องคดีภายในหกเดือนนับแต่เหตุประพฤติเนรคุณได้ทราบถึงผู้นั้น

มาตราที่เกี่ยวของ ปพพ. 531 , 1471  ฎีกา 6962/2550